วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562

MOU ย่อมาจาก

MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding หรือ บันทึกความเข้าใจ
MOU คือ เอกสารหรือหนังสือที่เก็บบันทึกข้อตกลง ความเข้าใจที่ตรงกัน หรือ ข้อตกลงที่จะร่วมมือระหว่างสองฝ่าย โดยที่ทั้งสองฝ่ายอาจเป็นองค์กรหนึ่งๆ หน่วยงานหนึ่งๆของรัฐ หน่วยงานหรือบริษัทเอกชน หรือระว่างรัฐ (ประเทศ) กับรัฐ ก็ได้ โดยถ้าเป็น MOU ระหว่างรัฐต่อรัฐ อาจจะถือว่าเป็นสนธิสัญญาซึ่งจะมีผลผูกพันทั้งสองฝ่าย (ถ้าเข้าเงื่อไขอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969)
หมายเหตุ MOU จะมีผลบังคับใช้ก้ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารนั้น
From :  เกร็ดความรู้.net

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

TOR คืออะไร และ การจัดทำ TOR


1 ความหมายและความสำคัญของ TOR
Terms of Reference หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า TOR เป็นเอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจที่ผู้จัดทำ TOR ต้องการให้ผู้รับจ้างดำเนินการ รวมทั้งความรับผิดชอบอื่นๆ ของผู้รับจ้างที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้น ตัวอย่างเช่น TOR สำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะกำหนดขอบเขตของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่ต้องศึกษา รวมทั้งระดับความลึก ของการศึกษาแต่ละประเด็น และรายงานต่างๆ ซึ่งที่ปรึกษาจะต้องจัดทำและส่งมอบให้ผู้ว่าจ้างในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดช่วงเวลาของการดำเนินภารกิจ ดังนั้น TOR จึงเทียบได้กับข้อกำหนด (Specifications) ของสินค้าที่ผู้ซื้อจัดทำขึ้นสำหรับการจัดซื้อ แต่ต่างกันตรงที่ไม่สามารถจัดทำข้อกำหนดอย่างละเอียดสำหรับผลงานการศึกษาหรือบริการทางวิชาการได้เหมือนกับข้อกำหนดของสินค้า ดังนั้น TOR จึงให้ข้อกำหนดได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น
ความสำคัญของ TOR มีสองประการ:
• ประการแรก TOR มีความสำคัญมากต่อคุณภาพของผลงานที่จะได้จากที่ปรึกษา TOR จะต้องมีความชัดเจน และกำหนดประเด็นต่างๆ ที่ที่ปรึกษาจะต้องวิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน TOR ยิ่งมีความชัดเจนเพียงใด ยิ่งทำให้การคัดเลือกที่ปรึกษาง่ายขึ้น โปร่งใสมากขึ้น และการประเมินปริมาณแรงงานของนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่ต้องใช้จะใกล้เคียงกับความจริงมากยิ่งขึ้น
• ประการที่สอง TOR เป็นเอกสารอ้างอิงที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาว่าจ้าง ดังนั้น TOR จึงต้องมีความชัดเจนเพียงพอต่อการประเมินปริมาณและคุณภาพงานของที่ปรึกษา
นอกเหนือจาก TOR ซึ่งกำหนดขอบเขตและรายละเอียดของภารกิจแล้ว ผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกที่ปรึกษาไว้ด้วย โดยเสนอแยกต่างหากไว้ในเอกสารข้อมูลสำหรับที่ปรึกษา
TOR ที่ดีจะต้องไม่เป็น TOR ที่กว้างทั่วไป จนสามารถนำไปใช้ได้ในทุกกรณี ตัวอย่างเช่น “ประเมินผลกระทบของโครงการที่มีต่อคุณภาพน้ำในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง” แต่จะต้องเน้นเฉพาะประเด็นให้ชัดเจน เช่น “ประเมินผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในคลองบางขัน คลองวง และคลองสี ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ กองวัสดุก่อสร้างของโครงการ โดยเน้นคุณภาพน้ำในเรื่องความขุ่นในช่วงเวลาหลังจากฝนตก ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำฝนชะล้างวัสดุก่อสร้าง” ดังนั้น การจัดทำ TOR จึงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในเบื้องต้นหรือ ในระดับแนวคิด ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อบ่งชี้ปัญหามากกว่าการหาคำตอบ การศึกษาใช้เวลาไม่นาน และอาจทำได้โดยการร่วมหารือกับกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

2 โครงสร้างของ TOR
โดยทั่วไป เอกสาร TOR จะประกอบด้วยส่วนหรือหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) บทนำ ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ
(2) วัตถุประสงค์ของภารกิจ และผลงานที่ต้องการจากที่ปรึกษา
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของที่ปรึกษา
(4) ขอบเขตการดำเนินงาน
(5) ระยะเวลาการดำเนินงาน
(6) บุคลากรที่ต้องการ
(7) ระยะเวลาการส่งมอบผลงาน
(8) การกำกับการทำงานของที่ปรึกษา
(9) หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง

-------------------------------------------------------------------------------------------

(1) บทนำ
บทนำจะให้ข้อมูลความเป็นมาของโครงการและภารกิจที่ต้องการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อให้ที่ปรึกษาเข้าใจถึงความจำเป็นหรือความสำคัญของภารกิจนี้ และความเชื่อมโยงของภารกิจนี้กับเรื่องอื่นๆ
(2) วัตถุประสงค์ของการว่าจ้างและผลงานที่ต้องการ
วัตถุประสงค์ของภารกิจ คือ สิ่งที่ผู้ว่าจ้างต้องการจะบรรลุหลังจากที่ภารกิจเสร็จสิ้นลง TOR ส่วนใหญ่มักกำหนดวัตถุประสงค์เป็นวิธีการ วัตถุประสงค์ คือ End ไม่ใช่ Means ตัวอย่างเช่น วัตถุประสงค์ของการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาปัญหาต่างๆ ในการปรับโครงสร้างของกรม การศึกษาปัญหาต่างๆ เป็น Means วัตถุประสงค์ในกรณีนี้น่าจะเป็นดังนี้ เพื่อจัดทำแผนปรับโครงสร้างของกรม โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีเนื้อหาสาระหรือองค์ประกอบดังต่อไปนี้ (กำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการแผนที่มีลักษณะอย่างไร) วัตถุประสงค์จะใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องการจะได้จากที่ปรึกษา แต่สิ่งที่ต้องการจะได้ในกรณีนี้ นอกจากเอกสารรายงานฯ และแผนการปรับโครงสร้างของกรมแล้ว อาจรวมสิ่งอื่นๆ อีก เช่น การฝึกอบรม เอกสารอื่นๆ เป็นต้น
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจของที่ปรึกษา
ประมวลเสนอสาระของปัญหาหรือเรื่องที่ต้องการให้ที่ปรึกษาดำเนินการ บ่งชี้ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งนี้ เพื่อสร้างพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจในขอบเขตการดำเนินงานภายใต้ภารกิจของที่ปรึกษา ส่วนนี้ของ TOR ควรเสนอสรุปย่อผลการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นเพื่อบ่งชี้ปัญหา รายละเอียดควรให้ไว้ในภาคผนวกหรือเอกสารแนบ
(4) ขอบเขตของการดำเนินงาน
ควรกำหนดชัดเจนว่าการดำเนินงานของที่ปรึกษาต้องครอบคลุมประเด็นใดบ้าง และละเอียดเพียงใด ทั้งในด้านลึกและด้านกว้าง ทั้งนี้ ต้องแน่ใจว่าประเด็นที่จะให้ที่ปรึกษาดำเนินงานมีความจำเป็นจริงๆ กับปัญหาหลักที่เป็นพื้นฐานในการว่าจ้างที่ปรึกษา ยิ่งมากประเด็นยิ่งเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ขอบเขตของการดำเนินงานจะบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง มิใช่บอกว่าทำอย่างไร แต่งานบางอย่างอาจจำเป็นต้องบอกว่า ควรทำอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อรักษามาตรฐานของข้อมูล อาทิเช่น กำหนดวิธีการสำรวจดิน วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำ วิธีวิเคราะห์น้ำ เป็นต้น
ควรแบ่งการดำเนินงานเป็นงานต่างๆ ตามขั้นตอนของการดำเนินงาน เช่น การสำรวจข้อมูล พื้นฐาน การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ การจัดทำรายงานฉบับร่าง การจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการปรับแก้รายงานฉบับร่าง เป็นต้น
(5) ระยะเวลาการดำเนินงาน
กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน โดยแบ่งเป็นระยะตามผลงานในช่วงการดำเนินงาน เช่น รายงานเริ่มงาน (Inception Report) รายงานฉบับกลาง รายงานฉบับร่าง รายงานฉบับสุดท้าย เป็นต้น
ระยะเวลาการดำเนินงานที่กำหนดให้ที่ปรึกษาต้องมีความเป็นไปได้ (Realistic) สอดคล้องกับปริมาณงาน และข้อจำกัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บข้อมูลที่ขึ้นกับฤดูกาล โดยทั่วไป ถ้าระยะเวลา การทำงานสั้นจะใช้คนมาก ถ้าระยะเวลาทำงานยาวใช้คนน้อย กล่าวคือ ปริมาณคน-เดือนที่ต้องใช้จะ ไม่เปลี่ยนแปลง
(6) บุคลากรที่ต้องการ
จะต้องกำหนดชัดเจนว่าบุคลากรที่ต้องการสำหรับภารกิจนี้ จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือ นักวิชาการด้านใดบ้าง แต่ละด้านจะใช้แรงงานเท่าใด ปริมาณแรงงานวัดเป็นคน-เดือน (Person-Months)
คนทั่วไปมักมีความสับสนในความหมายของคน-เดือน งานที่ถูกกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยใช้ปริมาณแรงงาน 36 คน-เดือน หมายถึงว่า โดยเฉลี่ยงานนี้ใช้คนทำงานเต็มเวลา 6 คน คนละ 6 เดือน รวมเป็น 36 คน-เดือน อย่างไรก็ตาม งานนี้อาจใช้คน 12 คน แต่ละคนมีปริมาณแรงงานไม่เท่ากัน แต่เมื่อเอาเวลาทำงานของแต่ละคนมารวมกันจะได้เท่ากับ 36
จะกำหนดสาขาวิชาหรือความเชี่ยวชาญที่ต้องการได้จากโครงร่างของปัญหาที่ต้องการให้มีการศึกษาวิเคราะห์ ส่วนข้อกำหนดในเรื่องประสบการณ์ของบุคลากรจะขึ้นกับระดับความยากง่ายของประเด็นปัญหาที่จะศึกษา ควรใช้คนให้เหมาะสมกับงาน
การประมาณปริมาณแรงงานที่ต้องใช้ขึ้นกับประสบการณ์ของผู้จัดทำ TOR และขึ้นกับความคาดหวังถึงระดับความสามารถของที่ปรึกษา คนเก่งมากจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าคนเก่งน้อยกว่า ถึงแม้ค่าจ้าง ต่อเดือนของคนที่เก่งกว่าจะสูงกว่าของคนที่เก่งน้อยกว่า แต่วงเงินรวมของคนที่เก่งกว่าน่าจะต่ำกว่าของคนที่เก่งน้อยกว่า และได้ผลงานที่มีคุณภาพดีกว่า
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้จัดทำ TOR ในการประมาณจำนวนคน-เดือนสำหรับที่ปรึกษา คือ การประมาณการว่า ถ้าผู้จัดทำ TOR เป็นผู้ทำงานเองจะต้องใช้กี่คน-เดือน ถ้าผู้จัดทำ TOR คิดว่าที่ปรึกษาเก่งกว่าผู้จัดทำ TOR ก็ควรกำหนดปริมาณคน-เดือนให้ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ในการประมาณการปริมาณแรงงานควรใช้ตัวเลขพื้นฐานชั่วโมงทำงาน 176 ชั่วโมงต่อคน-เดือน
กำหนดคุณวุฒิและประสบการณ์ของที่ปรึกษาและความสามารถพิเศษอื่นๆ ที่ต้องการ เช่น ต้องมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ได้ การคิดและพิมพ์ได้ และความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปริมาณแรงงานที่เอกสาร TOR กำหนดไว้เป็นเพียงตัวเลขคร่าวๆ ตามการประเมินของผู้จัดทำ TOR เท่านั้น เพื่อใช้ในการประมาณราคาค่าจ้าง ตัวเลขปริมาณแรงงานที่ที่ปรึกษาเสนอ อาจต่างจากตัวเลขของผู้จัดทำ TOR ได้ ในกรณีเช่นนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจปัญหาที่ต้องศึกษาไม่เพียงพอ
TOR ที่ไม่มีตัวเลขปริมาณแรงงาน จะทำให้มีความยุ่งยากในการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคที่ที่ปรึกษาเสนอมา
ปริมาณแรงงานกับวงเงินค่าจ้างทั้งหมด จะชี้คร่าวๆ ถึงระดับความสามารถของที่ปรึกษา
(7) ระยะเวลาการส่งมอบผลงานของที่ปรึกษา
ผลงานของที่ปรึกษา ได้แก่ รายงาน คู่มือ การฝึกอบรม การจัดสัมมนา เป็นต้น TOR จะต้องกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องการผลงานอะไรบ้าง ข้อกำหนดของผลงานเป็นอย่างไร (เช่น รายงานแต่ละฉบับจะต้องมีเนื้อหาสาระอะไรบ้าง) รูปร่างหน้าตาของผลงานควรเป็นอย่างไร (Format) กำหนดส่งมอบเมื่อไร จำนวนเท่าใด
ควรกำหนด Software ที่ที่ปรึกษาจะใช้และให้ที่ปรึกษาส่ง Diskette ด้วย
โดยทั่วไป รายงานที่ต้องการจากที่ปรึกษา ได้แก่
• รายงานเริ่มงาน (Inception Report) หลังจากเริ่มงานแล้วประมาณ 1-2 เดือน วัตถุประสงค์เพื่อทบทวนปรับแก้แผนงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นแล้ว
• รายงานฉบับกลาง (Interim Report) ประมาณกึ่งกลางช่วงเวลาการดำเนินงาน ถ้าช่วงเวลาการดำเนินงานสั้น เช่น 4-6 เดือน อาจไม่จำเป็นต้องมีรายงานฉบับกลาง
• รายงานฉบับสุดท้าย ฉบับร่าง (Draft Final Report) ประมาณ 1 เดือน ก่อนสิ้นสุด การดำเนินงาน
• รายงานฉบับสุดท้าย ฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ประมาณ 1 เดือน หลังจากที่ได้รับข้อคิดเห็นจากผู้ว่าจ้างแล้ว
• รายงานการเสร็จสิ้นภารกิจ (Assignment or Project Completion Report) ในกรณีที่มีการ ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินภารกิจที่ไม่ใช่เป็นการศึกษาจัดทำแผน เช่น ว่าจ้างที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ ว่าจ้างที่ปรึกษาให้จัดการโครงการ ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ควบคุมงานก่อสร้าง เป็นต้น
• รายงานความก้าวหน้า จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความต้องการของผู้ว่าจ้าง โดยอาจจะมีเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสก็ได้ รายงานนี้จะรายงานถึงความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาเป็นระยะๆ
(8) การกำกับการดำเนินงานของที่ปรึกษา
เอกสาร TOR ควรให้ข้อมูลแก่ที่ปรึกษาในเรื่องการจัดองค์กรของผู้ว่าจ้าง เพื่อการกำกับการดำเนินงานของที่ปรึกษา กลไกที่จะใช้ในการประสานงานกับที่ปรึกษา โดยทั่วไป ผู้ว่าจ้างจะมีเจ้าหน้าที่ร่วม (Counterpart Staff) เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้จากที่ปรึกษา (มักต้องเรียนรู้เอาเอง เพราะที่ปรึกษาจะให้ความสำคัญแก่การทำงานตามภารกิจของตนก่อน) ผู้ประสานงานโครงการหรือผู้จัดการโครงการ คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานของที่ปรึกษา (คณะกรรมการกำกับโครงการ)
ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งทางปฏิบัติส่วนราชการมักจะแต่งตั้งกรรมการตรวจการจ้างเป็นคนละชุดกับคณะกรรมการคัดเลือกที่ปรึกษา จึงมีปัญหา คือ คณะกรรมการตรวจการจ้างต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับข้อเสนอด้านเทคนิคของที่ปรึกษา รวมทั้งอาจไม่ทราบรายละเอียดผลการเจรจาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้โดยเฉพาะการทำความเข้าใจระหว่างกัน ในขอบเขตการปฏิบัติงานและความลึกของข้อมูลที่ต้องการให้ศึกษาและวิเคราะห์ ดังนั้น คณะกรรมการทั้งสองชุดควรใช้บุคลากรหลักร่วมกัน
(9) หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง
เอกสาร TOR จะต้องกำหนดชัดเจนว่า ผู้ว่าจ้างจะให้อะไรหรือทำอะไรให้แก่ที่ปรึกษาได้บ้าง จะคิดค่าใช้จ่ายหรือไม่คิด ถ้าคิดจะคิดอย่างไร
รายการที่ควรพิจารณา ได้แก่
• สถานที่ทำงาน เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร โทรศัพท์ โทรสาร ยานพาหนะ วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ
• ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของที่ปรึกษา ถ้าเป็นข้อมูลของหน่วยราชการต่างๆ ผู้ว่าจ้างควรรับหน้าที่ในการเก็บรวบรวมให้ที่ปรึกษาจะประหยัดเวลาและเงินค่าจ้างได้มาก
• ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การจัดสัมมนา การพิมพ์เอกสารต่างๆ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก svpdmo.pdmo.mof.go.th และ http://www.civilclub.net/

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ASEAN Economic Community ( AEC )

ASEAN Economic Community ( AEC )
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  ASEAN Economic Community     (AEC)    หมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีเป้าหมายส่งเสริมอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานมีฝีมือ และเงินลงทุนอย่างเสรี ภายในปี พ.ศ. 2558  (ค.ศ.2015) 
ความเป็นมา
อาเซียนหรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510  มีประเทศสมาชิกรวม 10 ประเทศ  แบ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ คือ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ คือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กลุ่ม CLMV (  Cambodia   Laos   Myanmar   Vietnam )
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง                          
อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมินาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการาค้ารุนแรงขึ้นทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการดังนี้ 
ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค ใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค                  
เป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน
อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจภายในปี  2558  (ค.ศ. 2015)   โดยมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single market and production base) และมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนแรงงานฝึมืออย่างเสรี และการเคลื่อนยายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น (free flows of goods, services, investment, and skilled labors, and free flow of capital)
ความคืบหน้าการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ความเป็นมา
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2546  ณ เกาะบาหลี ผู้นำอาเซียนประกาศเป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (แถลงการณ์บาหลี ฉบับที่ 2) คือการพัฒนาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยมีเสาหลักอีก    2 ด้าน คือด้านความมั่นคงและสังคมวัฒนธรรม ซึ่งจะประกอบกันเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี ค.ศ. 2020 และต่อมาได้เร่งเป้าหมายเป็นปี ค.ศ. 2015
เพื่อเร่งรัดการจัดตั้ง AEC  ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เห็นชอบที่จะจัดทำแผนงานเชิงบูรณาการด้านเศรษฐกิจ โดยระบุ
เป้าหมายและกรอบระยะเวลาในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ สำหรับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศไว้ชัดเจน อาเซียนได้จัดทำแผนงานดังกล่าวแล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้อาเซียนมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ
1 การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน  มีการเคลื่อนย้าย บริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียนให้เป็นรูปธรรม
2 การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีการประสานนโยบายที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และนโยบายภาษี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง การเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน
3 การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ส่งเสริมการพัฒนาและการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI)
4 การเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน เช่นการจัดทำเขตการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต/จำหน่ายภายในภูมิภาคให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก
สถานะล่าสุด
ณ ปัจจุบัน อาเซียนได้ดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้ง AEC มีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ดังนี้
การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  และไทย) ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน เป็น  0 %  และ  CLMV ได้ลดภาษีสินค้ามาอยู่ที่ระดับ 0 – 5 % แล้ว
มีการทบทวนและปรับปรุงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนให้ง่าย ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียนเพิ่มขึ้น
สมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) ได้ยกเลิกมาตรการที่เป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนฟิลิปปินส์จะยกเลิกภายใน  1 มกราคม 2555 และ CIMV ภายใน 1 มกราคม 2558
ได้จัดทำ ASEAN Trade Facilitation Framework ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะถดวกทางการค้า รวมถึงแผนงานเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ได้แก่ พิธีการศุลกากร กระบวนการทาบการค้า มาตรฐานและการรับรอง มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ASEAN Single Window และ ASEAN Trade Repository เป็นต้น
การเคลื่อนย้ายบริการอย่างเสรี 
สรุปผลการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการไปแล้ว 5 รอบ โดยจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการไป 7 ชุด ครอบคลุมทั้งด้านการเปิดตลาด (Market Access) และการให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment : NT)  โดยมีเป้าหมายการเปิดเสรีสาขาบริการสำคัญ 4 สาขา ได้แก่
ท่องเที่ยว ICT สุขภาพ และสาขาการบิน ภายในปี 2553  (ค.ศ. 2010)  ส่วนสาขาโลจิสติกส์ ภายในปี 2556 (2013) สำหรับสาขาบริการอื่น ๆ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015)
ณ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำข้อผูกพัน ฯ ชุดที่ 8 โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามพิธีสารเพื่อ อนุมัติข้อผูกพันชุดที่ 8 ภายใต้ ASEAN Framework  Agreement on Services          ( AFAS ) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17  และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 ณ ประเทศเวียดนาม
การเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรี
ได้ทบทวนกรอบความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (Framework Agreement of the ASEAN Investment Area : AIA)   และความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน หรือ ASEAN IGA (ASEAN Agreement for the promotion and protection of Investment ) และได้ปรับปรุงผนวกความตกลงทั้งสอบฉบับเป็น “ความตกลงว่าด้วยการลงทุนเต็มรูปแบบของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement  ACIA) “ มีสาระสำคัญ 4 ด้าน คือเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment     FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio  Investment  )
ณ ปัจจุบัน สมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นอินโดนีเซีย และไทย) ได้ให้สัตยาบันความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Agreement on Investment : ACIA) แล้ว
ขณะนี้อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการจัดทำรายการข้อสงวน (Reservation  List) และไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ Reservation List และการให้สัตยาบัน
การเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น   
ดำเนินงานตามแผนงานการรวมกลุ่มทางการเงินและการคลังของอาเซียน มีสาระสำคัญ    3 ด้าน คือ
1 การเปิดเสรีบริการทางการเงิน (Financial Liberalization) เจรจาทำข้อผูกพันการเปิดตลาดบริการทางการเงินไปแล้ว 5 รอบ
2 การเปิดเสรีบัญชีทุน (Capital Account Liberalization) มีการผ่อนปรนข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมถึงบัญชีเดินสะพัด และการลงทุนในหลักทรัพย์ตามความเหมาะสม
3 การพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียน
การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี   
มีการจัดทำ และลงนามข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมในคุณสมบัติวิชาชีพ สำหรับ 7สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์  นักบัญชี  วิศวกร พยาบาล สถาปนิก และนักสำรวจ
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีผลใช้บังคับ
เดินหน้าเต็มตัวมุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน“AEC Blueprint พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนได้จัดทำแผนงานในเชิงบูรณาการการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เห็นการดำเนินงานในภาพรวมที่จะนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี ค.ศ.2015 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านแผนงานนี้ก็เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่จะช่วยบอกองค์ประกอบและรูปร่างหน้าตาของบ้านหลังนี้ว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
ทำไมต้องจัดทำ AEC Blueprint
เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจให้ชัดเจนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดจนบรรลุเป้าหมาย AEC ในปี ค.ศ.2015
เพื่อสร้างพันธสัญญาระหว่างประเทศสมาชิกที่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน 


 

วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นเลิศ

ความเป็นเลิศนั้น ไม่จำเป็นต้องฉลาดหลักแหลม เก่งกาจ หรือทรงอำนาจมากกว่าคนอื่น
เราเป็นเพียงคนธรรมดาๆ แต่สิ่งที่เรามีความแตกต่าง คือ เราปรารถนากระทำทุกสิ่งให้ "ดีที่สุด"
เท่าที่เราจะสามารถกระทำได้เท่านั้น
11/12/2554  (จากหนังสือ ข้อคิดเพื่อความเป็นเลิศ อาจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์)

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Balanced Scorecard (BSC) คือ อะไร

Balanced Scorecard (BSC)

เป็นเครื่องมือซึ่งเกิดจากแนวความคิดที่ช่วยให้องค์กรในการแปลจากกลยุทธ์ให้เป็นการปฏิบัติ    โดยเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งเป็นขั้นของการกำหนดปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ    และจากนั้นก็เป็นการสร้างดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators) ขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายและใช้วัดผลการดำเนินงานในส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์   จึงถือได้ว่า BSC เป็นระบบการวัดผลการดำเนินงาน  ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรสู่การปฏิบัติ  และสะท้อนการดำเนินงานในมุมมอง 4 ด้านหลัก  คือ ด้านการเงิน  ด้านลูกค้า  ด้านกระบวนการภายใน  และด้านการเรียนรู้และการพัฒนา

• มุมมองด้านการเงิน
• มุมมองด้านลูกค้า  เน้นความพึงพอใจของลูกค้า 
• มุมมองด้านกระบวนการ   เป็นการปรับปรุงพัฒนากระบวนการภายใน 
• มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา  เน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  การสร้างเสริมความสามารถของพนักงานและระบบ


การวัดผลสำเร็จธุรกิจตามที่เคยทำกันมาแต่เดิมนั้น มักมุ่งเน้นที่ข้อมูลทางการเงินและการบัญชีจากภายนอก ซึ่งเป็นวิธีการที่เริ่มไม่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน  ตอนนี้องค์กรต้องการดัชนีวัดความสำเร็จที่ครอบคลุมมากกว่า  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับองค์กรในยุคข้อมูลข่าวสาร 

 สาเหตุที่ต้องพิจารณาการดำเนินงานจากมุมมองหลายด้าน  และสนับสนุนแนวคิดของ BSC ที่วัดผลสำเร็จของการดำเนินงานจาก 4 มุมมองนั้น  เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันองค์กรที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยมมีลักษณะร่วมบางอย่าง  ซึ่งสามารถสรุปได้  ดังนี้

• เป็นองค์กรที่เน้นให้ความสำคัญกับลูกค้า  มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความสำคัญและความต้องการของลูกค้า  และมีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในระดับกลยุทธ์และระดับปฏิบัติการ
• เป็นองค์กรที่มีผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจและสามารถในการสื่อสารอย่างทั่วถึงภายในองค์กร
• เป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการ  เพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายหลัก
• เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  มุ่งทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรเท่าที่จะเป็นไปได้ (Coronel & Evans, 1999)


ที่มาแหล่งความรู้ : รายงานการใช้ Balanced Scorecard ในการบริหารงานเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย
 โดย Dr. Wannarat  Wattananimitkul @ 2003


ความหมายของ SWOT

ความหมายของ SWOT

 SWOT เป็นคำย่อมาจากคำว่า Strengths, Weaknesses, Opportunities, and Threats โดย

 Strengths คือ จุดแข็ง หมายถึง ความสามารถและสถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นบวก ซึ่งองค์กรนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ดี

 Weaknesses คือ จุดอ่อน หมายถึง สถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นลบและด้อยความสามารถ ซึ่งองค์กรไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ไม่ดี

 Opportunities คือ โอกาส หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่เอื้ออำนวยให้การทำงานขององค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ หรือ สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขององค์กร

 Threats คือ อุปสรรค หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัญหาต่อองค์กร บางครั้งการจำแนกโอกาสและอุปสรรคเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สถานการณ์ที่เคยเป็นโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคได้

กรอบการวิเคราะห์ SWOT ในการวิเคราะห์ SWOT การกำหนดเรื่อง หัวข้อ หรือประเด็น (Area) เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง เพราะว่า การกำหนดประเด็นทำให้การวิเคราะห์และประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคได้ถูกต้องโดยเฉพาะการกำหนดประเด็นหลัก (key area) ได้ถูกต้องจะทำให้การวิเคราะห์ถูกต้องยิ่งขึ้น
การกำหนดกรอบการวิเคราะห์ SWOT ใด ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจและธรรมชาติขององค์กรนั้น ๆ ในวงการธุรกิจเอกชนมีการคิดค้นกรอบการวิเคราะห์ SWOT ที่มีความหลากหลายรูปแบบ อาทิ
MacMillan (1986) เสนอ 5 ประเด็นสำหรับกรอบการวิเคราะห์ SWOT คือ 1) เอกลักษณ์ขององค์กร 2) ขอบเขตปัจจุบันของธุรกิจ 3) แนวโน้มสภาพแวดล้อมที่จะเป็นโอกาสและอุปสรรค 4) โครงสร้างของธุรกิจ และ 5) รูปแบบการเติบโตที่คาดหวัง

ปัญหาในการทำกระบวนการวิเคราะห์ SWOT
 การวิเคราะห์ SWOT ขององค์การมีข้อที่ควรคำนึง 4 ประการ (Boseman et al., 1986) คือ
1.องค์กรต้องกำหนดก่อนว่า องค์กรต้องการที่จะทำอะไร
2.การวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคต้องกระทำในช่วงเวลาขณะนั้น
3.องค์กรต้องกำหนดปัจจัยหลัก (key success factors) ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ถูกต้อง
4.องค์กรต้องประเมินความสามารถของตนให้ถูกต้อง

นอกจากข้อที่ควรคำนึงแล้ว ยังมีปัญหาที่ควรระวัง (Goodstein et al., 1993) ดังนี้
1.การระบุจุดอ่อนต้องกระทำอย่างซื่อสัตย์ และบางครั้งจุดอ่อนเฉพาะอย่างเป็นของเฉพาะบุคคล
2.การจัดการกับกลไกการป้องกันตนเองต้องกระทำอย่างรอบคอบ
3.แนวโน้มการขยายจุดแข็งที่เกินความเป็นจริง
4.ความใกล้ชิดกับสถานการณ์ทำให้มอง สถานการณ์ขององค์กรไม่ชัดเจน
5.การกำหนดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลต้องระบุให้ชัดเจน
6.ข้อมูลไม่เพียงพอ และข้อมูลสิ่งแวดล้อม ภายนอกเบี่ยงเบนนอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอกอาจเป็นโอกาสหรืออุปสรรคก็ได้

คุณลักษณะของกระบวนการวิเคราะห์ SWOT
1) การมีส่วนร่วมทุกระดับ
ผู้นำหลักเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีส่วนร่วมสูงสุดในการกำหนดกลยุทธ์ของกลุ่ม ผู้นำหลักจะเป็นผู้คิดริเริ่มค้นหาปัจจัยตัดสินใจตลอดจนสามารถเสนอกลยุทธ์ทางเลือกได้
ส่วนผู้นำระดับรอง เช่น สมาชิกคณะกรรมการบริหาร และพนักงานที่มีความรับผิดชอบงานสูง มีส่วนร่วมระดับกลาง มักเป็นฝ่ายฟังอภิปรายบางจุดที่ตนไม่เห็นด้วย ไม่ใคร่มีความคิดริเริ่ม แต่ร่วมการติดสินใจและเข้าร่วมตลอดกระบวนการวิเคราะห์ SWOT

 2) กระบวนการเรียนรู้
  กระบวนการวิเคราะห์ SWOT เป็นเวทีการเรียนรู้ระหว่างผู้นำระดับต่าง ๆ 3 ลักษณะ คือ
 1) ผู้นำหลักสามารถถ่ายทอดถ่ายข้อมูลสู่ผู้นำระดับกลาง
 2) ผู้นำระดับกลางได้เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้นำหลักและ
 3) ผู้นำทุกระดับได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เข้าร่วม ต้องคิดอย่างจริงจังต้องเสนอความคิดของตนต่อกลุ่ม ต้องอภิปรายโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และที่สำคัญต้องตัดสินใจเลือกทิศทางและกลยุทธ์ของกลุ่ม

 3) การใช้เหตุผล
กระบวนการวิเคราะห์ SWOT เป็นกระบวนการที่เป็นระบบซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้เหตุผลในการคิดและตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ผู้เข้าร่วมต้องใช้ความคิดและอภิปรายถึงเหตุผลต่าง ๆ ในการติดสินใจ ซึ่งทำให้เกิดความรอบคอบในการกำหนดกลยุทธ์ หลายครั้งที่กลุ่มมีการโต้แย้งอภิปราย และแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน กระทั่งต้องใช้คะแนนเสียงเป็นตัวชี้ขาดการเลือกข้อสรุป

 4) การใช้ข้อมูล
การใช้ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการวิเคราะห์ SWOT หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องใช้ข้อมูลในการวางแผนกลยุทธ์หากผู้เข้าร่วมมีข้อมูลน้อยหรือไม่มี กลยุทธ์ที่ได้จะมีมีฐานของความจริงของกลุ่ม โอกาสที่จะกำหนดกลยุทธ์ผิดพลาดเป็นไปได้มาก

5) การกระตุ้นให้คิดและเปิดเผยประเด็นที่ซ่อนเร้น  
กระบวนการวิเคราะห์ SWOT อำนวยให้เกิดการคิดวิเคราะห์สูงเพราะผู้เข้าร่วมจะเป็นศูนย์กลางของกระบวนการ ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้กระทำการต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอน หากผู้เข้าร่วมทำไม่ได้ในขั้นตอนใดก็ไม่สามารถข้ามไปได้ ดังนั้น กระบวนการวิเคราะห์ SWOT จังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิด การวิเคราะห์ และการอภิปรายโต้เถียงเพื่อบรรลุถึงการตัดสินใจร่วมกัน

 6) การเป็นเจ้าของและพันธสัญญา
จากการที่ผู้เข้าร่วมเป็นผู้คิด วิเคราะห์ ใช้เหตุผล อภิปรายแลกเปลี่ยน จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจของเขาเองในการกำหนดภารกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ของกลุ่ม กระบวนการวิเคราะห์ SWOT จึงช่วยสร้างให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของแผนงานและเกิดความผูกพันต่อการนำแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ การเป็นเจ้าของที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ การเอ่ยถึงแผนโดยใช้คำว่า “แผนของเรา” ของผู้เข้าร่วม

GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร


GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร

    Gross Domestic Product: GDP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณรายได้ประชาชาติ (National income) ซึ่งการคำนวณ ทำได้ 3 ด้านคือ ด้านรายจ่าย ด้านรายได้ และด้านการผลิตโดยไม่ว่าจะคำนวณด้านใดจะได้มูลค่าที่เท่ากันเสมอ

    รายได้ประชาชาติ (National income) หมายถึง รายได้ที่ประชากรของประเทศได้รับจากการผลิตสินค้าและบริการ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติกำหนดไว้ที่ 1 ปีปฏิทิน ประเภทของรายได้ประชาชาติ ประกอบด้วย

    1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ: GDP (Gross Domestic Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ :GNP (Gross National Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    3. ผลิตภัณฑ์ในประเทศสุทธิ : NDP (Net Domestic Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    4. ผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ : NNP (Net National Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    5. รายได้ประชาชาติ : NI (National income) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังหักภาษีทางอ้อมสุทธิแล้ว

    6. รายได้ส่วนบุคคล : PI (Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจริงก่อนหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    7. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ : DPI (Disposable Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้จริง

    GPP (Gross Provincial Product) คืออะไร

    Gross Provincial Product: GPP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัด ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของจังหวัด

    กิจกรรมการผลิตที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจำแนกหมวดหมู่ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) ปี 2544ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย 16 สาขาการผลิต ดังนี้

    1. เกษตรกรรม ล่าสัตว์ และป่าไม้

    2. ประมง

    3. เหมืองแร่

    4. อุตสาหกรรม

    5. ก่อสร้าง

    6. ไฟฟ้า ประปา และโรงแยกก็าซ

    7. ขนส่ง คมนาคม และคลังสินค้า

    8. โรงแรม และภัตตาคาร

    9. ค้าส่งและค้าปลีก และการซ่อมแซมรถยนต์ และของใช้

    10. ตัวกลางทางการเงิน และธุรกิจประกันภัย

    11. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการธุรกิจ

    12. บริการการศึกษา

    13. บริการสุขภาพ

    14. การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ

    15. บริการชุมชน สังคม และส่วนบุคคล

    16. บริการคนรับใช้ในบ้าน



ที่มา : http://www.aspchapter.com

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับ