วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร


GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร

    Gross Domestic Product: GDP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณรายได้ประชาชาติ (National income) ซึ่งการคำนวณ ทำได้ 3 ด้านคือ ด้านรายจ่าย ด้านรายได้ และด้านการผลิตโดยไม่ว่าจะคำนวณด้านใดจะได้มูลค่าที่เท่ากันเสมอ

    รายได้ประชาชาติ (National income) หมายถึง รายได้ที่ประชากรของประเทศได้รับจากการผลิตสินค้าและบริการ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติกำหนดไว้ที่ 1 ปีปฏิทิน ประเภทของรายได้ประชาชาติ ประกอบด้วย

    1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ: GDP (Gross Domestic Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ :GNP (Gross National Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    3. ผลิตภัณฑ์ในประเทศสุทธิ : NDP (Net Domestic Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    4. ผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ : NNP (Net National Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    5. รายได้ประชาชาติ : NI (National income) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังหักภาษีทางอ้อมสุทธิแล้ว

    6. รายได้ส่วนบุคคล : PI (Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจริงก่อนหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    7. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ : DPI (Disposable Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้จริง

    GPP (Gross Provincial Product) คืออะไร

    Gross Provincial Product: GPP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัด ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของจังหวัด

    กิจกรรมการผลิตที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจำแนกหมวดหมู่ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) ปี 2544ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย 16 สาขาการผลิต ดังนี้

    1. เกษตรกรรม ล่าสัตว์ และป่าไม้

    2. ประมง

    3. เหมืองแร่

    4. อุตสาหกรรม

    5. ก่อสร้าง

    6. ไฟฟ้า ประปา และโรงแยกก็าซ

    7. ขนส่ง คมนาคม และคลังสินค้า

    8. โรงแรม และภัตตาคาร

    9. ค้าส่งและค้าปลีก และการซ่อมแซมรถยนต์ และของใช้

    10. ตัวกลางทางการเงิน และธุรกิจประกันภัย

    11. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการธุรกิจ

    12. บริการการศึกษา

    13. บริการสุขภาพ

    14. การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ

    15. บริการชุมชน สังคม และส่วนบุคคล

    16. บริการคนรับใช้ในบ้าน



ที่มา : http://www.aspchapter.com

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น