วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Balanced Scorecard (BSC) คือ อะไร

Balanced Scorecard (BSC)

เป็นเครื่องมือซึ่งเกิดจากแนวความคิดที่ช่วยให้องค์กรในการแปลจากกลยุทธ์ให้เป็นการปฏิบัติ    โดยเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งเป็นขั้นของการกำหนดปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ    และจากนั้นก็เป็นการสร้างดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators) ขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายและใช้วัดผลการดำเนินงานในส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์   จึงถือได้ว่า BSC เป็นระบบการวัดผลการดำเนินงาน  ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรสู่การปฏิบัติ  และสะท้อนการดำเนินงานในมุมมอง 4 ด้านหลัก  คือ ด้านการเงิน  ด้านลูกค้า  ด้านกระบวนการภายใน  และด้านการเรียนรู้และการพัฒนา

• มุมมองด้านการเงิน
• มุมมองด้านลูกค้า  เน้นความพึงพอใจของลูกค้า 
• มุมมองด้านกระบวนการ   เป็นการปรับปรุงพัฒนากระบวนการภายใน 
• มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา  เน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  การสร้างเสริมความสามารถของพนักงานและระบบ


การวัดผลสำเร็จธุรกิจตามที่เคยทำกันมาแต่เดิมนั้น มักมุ่งเน้นที่ข้อมูลทางการเงินและการบัญชีจากภายนอก ซึ่งเป็นวิธีการที่เริ่มไม่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน  ตอนนี้องค์กรต้องการดัชนีวัดความสำเร็จที่ครอบคลุมมากกว่า  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับองค์กรในยุคข้อมูลข่าวสาร 

 สาเหตุที่ต้องพิจารณาการดำเนินงานจากมุมมองหลายด้าน  และสนับสนุนแนวคิดของ BSC ที่วัดผลสำเร็จของการดำเนินงานจาก 4 มุมมองนั้น  เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันองค์กรที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยมมีลักษณะร่วมบางอย่าง  ซึ่งสามารถสรุปได้  ดังนี้

• เป็นองค์กรที่เน้นให้ความสำคัญกับลูกค้า  มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงความสำคัญและความต้องการของลูกค้า  และมีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในระดับกลยุทธ์และระดับปฏิบัติการ
• เป็นองค์กรที่มีผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจและสามารถในการสื่อสารอย่างทั่วถึงภายในองค์กร
• เป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลเพื่อการจัดการ  เพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายหลัก
• เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  มุ่งทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรเท่าที่จะเป็นไปได้ (Coronel & Evans, 1999)


ที่มาแหล่งความรู้ : รายงานการใช้ Balanced Scorecard ในการบริหารงานเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย
 โดย Dr. Wannarat  Wattananimitkul @ 2003


ความหมายของ SWOT

ความหมายของ SWOT

 SWOT เป็นคำย่อมาจากคำว่า Strengths, Weaknesses, Opportunities, and Threats โดย

 Strengths คือ จุดแข็ง หมายถึง ความสามารถและสถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นบวก ซึ่งองค์กรนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ดี

 Weaknesses คือ จุดอ่อน หมายถึง สถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นลบและด้อยความสามารถ ซึ่งองค์กรไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ไม่ดี

 Opportunities คือ โอกาส หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่เอื้ออำนวยให้การทำงานขององค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ หรือ สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขององค์กร

 Threats คือ อุปสรรค หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัญหาต่อองค์กร บางครั้งการจำแนกโอกาสและอุปสรรคเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สถานการณ์ที่เคยเป็นโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคได้

กรอบการวิเคราะห์ SWOT ในการวิเคราะห์ SWOT การกำหนดเรื่อง หัวข้อ หรือประเด็น (Area) เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง เพราะว่า การกำหนดประเด็นทำให้การวิเคราะห์และประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคได้ถูกต้องโดยเฉพาะการกำหนดประเด็นหลัก (key area) ได้ถูกต้องจะทำให้การวิเคราะห์ถูกต้องยิ่งขึ้น
การกำหนดกรอบการวิเคราะห์ SWOT ใด ๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจและธรรมชาติขององค์กรนั้น ๆ ในวงการธุรกิจเอกชนมีการคิดค้นกรอบการวิเคราะห์ SWOT ที่มีความหลากหลายรูปแบบ อาทิ
MacMillan (1986) เสนอ 5 ประเด็นสำหรับกรอบการวิเคราะห์ SWOT คือ 1) เอกลักษณ์ขององค์กร 2) ขอบเขตปัจจุบันของธุรกิจ 3) แนวโน้มสภาพแวดล้อมที่จะเป็นโอกาสและอุปสรรค 4) โครงสร้างของธุรกิจ และ 5) รูปแบบการเติบโตที่คาดหวัง

ปัญหาในการทำกระบวนการวิเคราะห์ SWOT
 การวิเคราะห์ SWOT ขององค์การมีข้อที่ควรคำนึง 4 ประการ (Boseman et al., 1986) คือ
1.องค์กรต้องกำหนดก่อนว่า องค์กรต้องการที่จะทำอะไร
2.การวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคต้องกระทำในช่วงเวลาขณะนั้น
3.องค์กรต้องกำหนดปัจจัยหลัก (key success factors) ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ถูกต้อง
4.องค์กรต้องประเมินความสามารถของตนให้ถูกต้อง

นอกจากข้อที่ควรคำนึงแล้ว ยังมีปัญหาที่ควรระวัง (Goodstein et al., 1993) ดังนี้
1.การระบุจุดอ่อนต้องกระทำอย่างซื่อสัตย์ และบางครั้งจุดอ่อนเฉพาะอย่างเป็นของเฉพาะบุคคล
2.การจัดการกับกลไกการป้องกันตนเองต้องกระทำอย่างรอบคอบ
3.แนวโน้มการขยายจุดแข็งที่เกินความเป็นจริง
4.ความใกล้ชิดกับสถานการณ์ทำให้มอง สถานการณ์ขององค์กรไม่ชัดเจน
5.การกำหนดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลต้องระบุให้ชัดเจน
6.ข้อมูลไม่เพียงพอ และข้อมูลสิ่งแวดล้อม ภายนอกเบี่ยงเบนนอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอกอาจเป็นโอกาสหรืออุปสรรคก็ได้

คุณลักษณะของกระบวนการวิเคราะห์ SWOT
1) การมีส่วนร่วมทุกระดับ
ผู้นำหลักเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีส่วนร่วมสูงสุดในการกำหนดกลยุทธ์ของกลุ่ม ผู้นำหลักจะเป็นผู้คิดริเริ่มค้นหาปัจจัยตัดสินใจตลอดจนสามารถเสนอกลยุทธ์ทางเลือกได้
ส่วนผู้นำระดับรอง เช่น สมาชิกคณะกรรมการบริหาร และพนักงานที่มีความรับผิดชอบงานสูง มีส่วนร่วมระดับกลาง มักเป็นฝ่ายฟังอภิปรายบางจุดที่ตนไม่เห็นด้วย ไม่ใคร่มีความคิดริเริ่ม แต่ร่วมการติดสินใจและเข้าร่วมตลอดกระบวนการวิเคราะห์ SWOT

 2) กระบวนการเรียนรู้
  กระบวนการวิเคราะห์ SWOT เป็นเวทีการเรียนรู้ระหว่างผู้นำระดับต่าง ๆ 3 ลักษณะ คือ
 1) ผู้นำหลักสามารถถ่ายทอดถ่ายข้อมูลสู่ผู้นำระดับกลาง
 2) ผู้นำระดับกลางได้เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้นำหลักและ
 3) ผู้นำทุกระดับได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  กระบวนการเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เข้าร่วม ต้องคิดอย่างจริงจังต้องเสนอความคิดของตนต่อกลุ่ม ต้องอภิปรายโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และที่สำคัญต้องตัดสินใจเลือกทิศทางและกลยุทธ์ของกลุ่ม

 3) การใช้เหตุผล
กระบวนการวิเคราะห์ SWOT เป็นกระบวนการที่เป็นระบบซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้เหตุผลในการคิดและตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการ ผู้เข้าร่วมต้องใช้ความคิดและอภิปรายถึงเหตุผลต่าง ๆ ในการติดสินใจ ซึ่งทำให้เกิดความรอบคอบในการกำหนดกลยุทธ์ หลายครั้งที่กลุ่มมีการโต้แย้งอภิปราย และแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน กระทั่งต้องใช้คะแนนเสียงเป็นตัวชี้ขาดการเลือกข้อสรุป

 4) การใช้ข้อมูล
การใช้ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการวิเคราะห์ SWOT หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องใช้ข้อมูลในการวางแผนกลยุทธ์หากผู้เข้าร่วมมีข้อมูลน้อยหรือไม่มี กลยุทธ์ที่ได้จะมีมีฐานของความจริงของกลุ่ม โอกาสที่จะกำหนดกลยุทธ์ผิดพลาดเป็นไปได้มาก

5) การกระตุ้นให้คิดและเปิดเผยประเด็นที่ซ่อนเร้น  
กระบวนการวิเคราะห์ SWOT อำนวยให้เกิดการคิดวิเคราะห์สูงเพราะผู้เข้าร่วมจะเป็นศูนย์กลางของกระบวนการ ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้กระทำการต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอน หากผู้เข้าร่วมทำไม่ได้ในขั้นตอนใดก็ไม่สามารถข้ามไปได้ ดังนั้น กระบวนการวิเคราะห์ SWOT จังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิด การวิเคราะห์ และการอภิปรายโต้เถียงเพื่อบรรลุถึงการตัดสินใจร่วมกัน

 6) การเป็นเจ้าของและพันธสัญญา
จากการที่ผู้เข้าร่วมเป็นผู้คิด วิเคราะห์ ใช้เหตุผล อภิปรายแลกเปลี่ยน จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจของเขาเองในการกำหนดภารกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ของกลุ่ม กระบวนการวิเคราะห์ SWOT จึงช่วยสร้างให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของแผนงานและเกิดความผูกพันต่อการนำแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ การเป็นเจ้าของที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ การเอ่ยถึงแผนโดยใช้คำว่า “แผนของเรา” ของผู้เข้าร่วม

GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร


GDP (Gross Domestic Product) คืออะไร

    Gross Domestic Product: GDP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณรายได้ประชาชาติ (National income) ซึ่งการคำนวณ ทำได้ 3 ด้านคือ ด้านรายจ่าย ด้านรายได้ และด้านการผลิตโดยไม่ว่าจะคำนวณด้านใดจะได้มูลค่าที่เท่ากันเสมอ

    รายได้ประชาชาติ (National income) หมายถึง รายได้ที่ประชากรของประเทศได้รับจากการผลิตสินค้าและบริการ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติกำหนดไว้ที่ 1 ปีปฏิทิน ประเภทของรายได้ประชาชาติ ประกอบด้วย

    1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ: GDP (Gross Domestic Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ :GNP (Gross National Product) คือ มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    3. ผลิตภัณฑ์ในประเทศสุทธิ : NDP (Net Domestic Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตได้ภายในอาณาเขตของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    4. ผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ : NNP (Net National Product) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

    5. รายได้ประชาชาติ : NI (National income) คือ มูลค่าสุทธิของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ประชาชาติผลิตได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังหักภาษีทางอ้อมสุทธิแล้ว

    6. รายได้ส่วนบุคคล : PI (Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับจริงก่อนหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    7. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ : DPI (Disposable Personal income) คือ รายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้จริง

    GPP (Gross Provincial Product) คืออะไร

    Gross Provincial Product: GPP หรือที่เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดคือ มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัด ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (1 ปีปฏิทิน) ซึ่งมีค่าเท่ากับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกประเภทในขอบเขตพื้นที่ของจังหวัด

    กิจกรรมการผลิตที่ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจำแนกหมวดหมู่ตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) ปี 2544ของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย 16 สาขาการผลิต ดังนี้

    1. เกษตรกรรม ล่าสัตว์ และป่าไม้

    2. ประมง

    3. เหมืองแร่

    4. อุตสาหกรรม

    5. ก่อสร้าง

    6. ไฟฟ้า ประปา และโรงแยกก็าซ

    7. ขนส่ง คมนาคม และคลังสินค้า

    8. โรงแรม และภัตตาคาร

    9. ค้าส่งและค้าปลีก และการซ่อมแซมรถยนต์ และของใช้

    10. ตัวกลางทางการเงิน และธุรกิจประกันภัย

    11. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการธุรกิจ

    12. บริการการศึกษา

    13. บริการสุขภาพ

    14. การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ

    15. บริการชุมชน สังคม และส่วนบุคคล

    16. บริการคนรับใช้ในบ้าน



ที่มา : http://www.aspchapter.com

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ครับ

CEO คือ อะไร


           ในทศวรรษนี้ ศาสตร์การบริหารที่ได้รับความนิยมในภาคธุรกิจเอกชนเป็นอย่างมาก คือ หลักการบริหารแบบ CEO เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้นักบริหารธุรกิจเอกชนให้ความสนใจหลักการบริหารแนวใหม่นี้ เพราะสามารถนำพาให้องค์กรฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อปี 2540 และทำให้องค์กรอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายแห่งได้ใช้หลักการบริหารแบบนี้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบมาจากเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดถูกผู้ก่อการร้ายถล่มเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งบริษัทหลายแห่งประสบความสำเร็จและสามารถอยู่รอดได้จนถึงปัจจุบันนี้ (สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด 2547, 3)

ความหมาย
           Webster’s new world college dictionary (1997, 254) ให้ความหมายไว้ว่า Chief Executive Officer คือ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร

           Oxford advanced learner’s dictionary of current English (2000, 215) ให้ความหมายไว้ว่า Chief Executive Officer : CEO คือ บุคคลผู้มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงสุดในองค์กรหรือบริษัท

           วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2546, 52) กล่าวว่า CEO คือ ประธานหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัท ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการอำนวยการ หรือบอร์ดของบริษัทให้มีอำนาจในการจัดการซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการใช้อำนาจจัดการบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

           ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ (2545, 17) กล่าวว่า CEO หรือ นักบริหารสูงสุดขององค์กร คือ ผู้ที่รู้ลึกรู้จริงใน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจที่ตนดูแล คลุกคลีอยู่กับผู้บริหารและพนักงานภายในบริษัท หยั่งรู้ทุกข์-สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นผู้กำหนดทิศทาง และกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ของบริษัทโดยมอบหมายให้ กรรมการผู้จัดการ นำไปปฏิบัติในการบริหารงานประจำวัน มีหน้าที่นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุด แต่เป็นผู้ที่สร้างบริษัทให้กลายเป็นสถาบันที่ทรงคุณค่าในสังคม

           สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด (2547, 3) คำว่า CEO เป็นคำย่อมาจาก Chief Executive Officer ซึ่งก็หมายถึง ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่จะต้องมีภาวะผู้นำในการบริหารองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ (Vision) และเป้าหมายรวมของหน่วยงานที่กำหนดไว้ โดยห้คนในหน่วยงานมีส่วนร่วมในการบริหารงานในแต่ละระดับให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่รับผิดชอบ

           เสริมพงษ์ รัตนะ (2544, 83) กล่าวว่า CEO ย่อมาจากคำว่า Chairman and Chief Executive Officer ซึ่งก็คือ ประธานคณะกรรมการบริษัทธุรกิจชั้นนำ

           สาโรจน์ โอพิทักษ์ชีวิน, วรรธนา พันธ์สว่าง และวรรณา พลอยสุวรรณ (2545, 4) กล่าวถึง CEO ว่าคือ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า ซีอีโอ





หัวข้อ
แนวคิด CEO
          แนวคิดซีอีโอในภาคเอกชน มีแนวคิดสำคัญ คือ ประธานหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัทได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการอำนวยการ หรือบอร์ดของบริษัทให้มีอำนาจในการจัดการซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการใช้อำนาจจัดการบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเนื่องจากหัวหน้าฝ่ายบริหารดังกล่าวจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้บริษัท มีกำไรหรือขาดทุน เจริญหรือเสื่อม จึงจำเป็นต้องมีอำนาจดังกล่าว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นซีอีโอของภาคเอกชนจึงได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหรือคณะกรรมการอำนวยการของบริษัท โดยต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง และซื่อสัตย์สุจริต บริษัทจะให้ค่าตอบแทนสูง มอบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมกับจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ให้ซีอีโอ เพื่อทำให้สามารถจัดการกิจการทั้งหลายของบริษัทให้ประสบผลสำเร็จทางวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าซีอีโอปฏิบัติงานล้มเหลวหรือไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ ผู้มีอำนาจหรือคณะกรรมการอำนวยการของบริษัทก็จะสั่งปลดได้ (วิรัช วิรัชนิภาวรรณ 2546, 52)

          แนวคิดซีอีโอ ซึ่งอาจเรียกว่า แนวทางหรือ วิธีการบริหารหรือการจัดการ ใช้อยู่ในหน่วยงานของภาคเอกชนของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปรวมทั้งภาคเอกชนไทย

          ซีอีโอ เป็นระบบของธุรกิจอเมริกัน ที่นิยมการบริหารงานที่ค่อนข้างเด็ดขาด รวดเร็ว และการตัดสินใจฉับพลันไม่งุ่มง่าม เพราะในวงการค้านั้นต้องฉกชิง และฉวยโอกาสทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือการช่วงชิงหาตลาดของผลผลิต และในขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลควบคุมการใช้บุคลากรให้เต็มศักยภาพ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่ถูกใจ ลูกค้า ด้วยต้นทุนที่ต่ำหรือลดต้นทุนและยิ่งมีกำไรมากเท่าไรก็ยิ่งดี (สุวิทย์ ยิ่งวรพันธุ์ 2544, 6)
ความรู้และทักษะของ CEO
          CEO เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในองค์กร ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงต้องการบุคคลที่มีความสามารถดำรงตำแหน่ง ซึ่งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้ ได้แก่

          1. ความรู้ในด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ ได้แก่
          - การบริหารจัดการตนเอง
          - ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการองค์กร
          - สมรรถนะความเป็นผู้นำ
          - ความสามารถในการบริหารจัดการ
          2. ความรู้ในด้านการวางแผน ได้แก่
          - การวางแผนทางธุรกิจ
          - การวางแผนกลยุทธ์
          3. ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่
          - การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
          - การบริหารจัดการบุคลากร
          - การบริหารจัดการกลุ่มภายในองค์กร
          - การบริหารจัดการธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ
          - การปรับปรุงองค์กรทางธุรกิจของตน

          4. ความรู้ความสามารถในด้านการเป็นผู้นำ ได้แก่
          - เป็นผู้นำของทุก ๆ คน
          - เป็นผู้นำของกลุ่ม
          - เป็นผู้นำขององค์กร

          5. ความรู้ในด้านการจัดการกิจกรรมและทรัพยากรในองค์กร ได้แก่
          - มีจริยธรรมในระบบการบริหารจัดการ
          - การจัดการด้านการเงิน
          - การจัดการด้านงบประมาณ
          - การบริหารจัดการบุคลากร
          - การบริหารจัดการกลุ่มในองค์กร
          - การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง
          - การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และบริการ
          - การบริหารจัดการการตลาด และการประชาสัมพันธ์
          - การคิดอย่างเป็นระบบ
คุณสมบัติของ CEO
คุณสมบัติของ CEO (สุวิทย์ ยิ่งวรพันธุ์ 2544, 6)
          1. ความสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นได้อย่างดีเยี่ยงนักการทูต รวมทั้งการวางตัวสง่าผ่าเผย
เหมาะสมกาลเทศะ
          2. ความสามารถในการวางแผนและการระดมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารงานได้ตามคำสั่ง หรือข้อบังคับของบริษัท
          3. ความสามารถในการมอบอำนาจการปฏิบัติงานให้กับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
          4. ความสามารถในการควบคุมและประเมินผลงานทุกขั้นตอน และทุกตำแหน่ง
          5. ความสามารถในการเผชิญปัญหา และกล้าตัดสินใจด้วยข้อมูลสถิติ เหตุผลที่ตรวจสอบเรียบร้อยอยู่ในกรอบของอำนาจหน้าที่
          6. ความคิดริเริ่มในการที่จะให้สัมฤทธิ์ผล ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ มิใช่นั่งรอ แต่โอกาส หรือรองาน
          7. ปฏิบัติงานด้วยจิตใจที่มั่นคง เมื่อเผชิญกับปัญหา หรือความกดดันจากฝ่ายตรงข้ามทุกฝ่าย
          8. ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเผชิญกับงานชนิดใด ความรับผิดชอบ หรือประชาชนไม่ว่าจะมาในรูปใด
          9. ปฏิบัติงานด้วยความมั่นคงแน่วแน่ต่อแผนที่ได้วางไว้ด้วยความรอบคอบ (ไม่โลเล) จนกว่าแผนจะบรรลุตามเป้าหมาย หรือปฏิบัติไม่ได้จริง ๆ
แนวทางการสร้างพลังความเป็นผู้นำของ CEO (เสริมพงษ์ รัตนะ 2544, 83)
          แนวทางการสร้างพลังความเป็นผู้นำของ CEO มีหลัก 9 ประการ คือ
          1. ให้ความสำคัญกับคน ในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด
          2. ให้มีการชี้แจงจุดมุ่งหมายของการบังคับบัญชา และการควบคุม ผู้นำ จะต้องเป็นผู้รอบรู้มีความเชี่ยวชาญในงานขององค์การของคน และสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานนำนโยบายไปปฏิบัติ
          3. การสร้างสภาวะแวดล้อมผู้นำ โดยพิจารณาปรับโครงสร้างองค์การให้สะดวกต่อการส่งเสริมและให้โอกาสในการเป็นผู้นำ
          4. พลังในการติดต่อสื่อสาร ผู้นำ ต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารในลักษณะสื่อสารสองทาง (Two way communication) และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ Emotion Quotient)
          5. ความสามารถในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น Internet เพื่อติดต่อกับบุคคลทั้งภายใน และภายนอกองค์การ
          6. การเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ร่วมงาน
          7. การมีผลงานที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ และมีระบบการควบคุมงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
          8. ความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการ ผู้นำต้องสามารถผลักดันให้ผู้ร่วมงานทำงานสำเร็จตามเป้าหมายในลักษณะทีมงาน
          9. การยอมรับต่อบุคคล ผู้นำต้องให้เกียรติต่อผู้ร่วมงานเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน และทำให้ทีมงานแสดงพลังออกมาได้อย่างเต็มที่


บทบาทของ CEO
          CEO ควรจะมีบทบาทสำคัญในด้านต่อไปนี้ (ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ 2545, 43-47)
          1. เป็นผู้วางกลยุทธ์ ให้บริษัทอยู่รอดทางธุรกิจ และเจริญรุ่งโรจน์ต่อไป การวางกลยุทธ์ได้ดี ต้องวางอย่างมีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่จินตนาการ คิดปุ๊บแล้วสั่งให้ทำปั๊บ CEO จะต้องลงไปคลุกคลีกับงานจนรู้แจ้งแทงตลอด เข้าใจกระบวนการทั้งหมด จากนั้นจึงแสดงวิสัยทัศน์ชี้นำ และมอบหมายอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำไปปฏิบัติ ไม่ใช่จะมากล่าวยกย่องกันเอง แต่คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานใหญ่ของเครือซี.พี. คือ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เพราะท่านทำงานชนิดติดดินขลุกอยู่กับเล้าหมูเล้าไก่ถึง 6 ปี จนเข้าใจหมด จากนั้นจึงกระจายอำนาจให้คนอื่นจัดการแทน โดยสามารถให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากได้
ฝ่าด่านปัญหาทุกขั้นตอนมาด้วยตนเอง และเมื่อฟังรายงานก็ทราบได้ทันทีว่า ผู้รายงานรู้จริงหรือ ยกเมฆ

         
2. เป็นผู้วางโครงสร้างวัฒนธรรมภายใน เพื่อเป็นพลังขององค์กร CEO จึงควรสวมหัวใจของ Human Resource Manager ด้วย เพราะวิญญาณขององค์กรอยู่ที่คนไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโต๊ะทำงาน CEO จึงต้องตระหนักในคุณค่า และให้ความสำคัญต่อพนักงานทุกระดับ โดยมีหน่วยงาน Human Resource เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายให้บรรลุผล ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากโดยทั่วไป CEO จะเป็นผู้รับฟังข้อเสนอและความคิดต่าง ๆ จากทาง Human Resource และเลือกดูว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แล้วก็ปล่อยให้ Human Resource Manager
ไปดำเนินการตามยถากรรม แต่ถ้า CEO เข้าใจว่างานด้าน Human Resource Manager เป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของตน ก็จะใส่ใจคิดหาวิธีการและลงมือผลักดันอย่างจริงจัง โอกาสที่นโยบายจะประสบความสำเร็จจึงมีสูงกว่า ขวัญและกำลังใจพนักงานก็จะได้รับการทะนุบำรุงด้วยระบบคุณธรรม โดยมี CEO เป็นผู้กำกับ


         
3. เป็นผู้ดูแลด้านงานปกครอง ต้องรับรู้ทุกข์สุข ปัญหาความขัดแย้ง เป็นผู้คอยไกล่เกลี่ยตัดสิน โดยยึดความถูกต้องยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ซึ่งถ้าทำหน้าที่ได้ดีก็จะเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างสูงจากสมาชิกในบริษัท

         
4. CEO ต้องเป็นเบอร์หนึ่งในด้านการประชาสัมพันธ์ เพราะ CEO คือคนที่กำหนดว่าจะให้สาธารณะชนรับรู้ภาพลักษณ์ขององค์กรไปในลักษณะใด เพื่อให้สังคมส่วนรวมให้การยอมรับและสนับสนุนกิจการขององค์กรในทุกสถานการณ์

         
5. CEO เปรียบเสมือน Conductor หรือผู้ควบคุมวงดนตรี CEO ต้องคอยเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมสมาชิกในองค์กร เพื่อปรับโครงสร้างและตัวบุคคล เช่นเดียวกับ Conductor ที่ต้องคอยปรับแต่งเสียงของเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันให้บรรเลงออกมาประสานสอดคล้อง และไพเราะน่าฟังที่สุด

         
6. CEO ต้องเป็นนักบัญชีการเงิน เพราะภาพรวมทางบัญชีการเงิน คือ ภาพเอ็กซเรย์ขององค์กร เราจะสามารถมองทะลุเห็นโครงกระดูก ตับไต ไส้พุงของบริษัทอย่างชัดเจน ถ้ามองด้วยสายตาของนักบัญชี วิธีคิดแบบนักบัญชีจะช่วยให้ CEO มองเห็นสถานะสินทรัพย์ของบริษัทอย่างเป็นระบบระเบียบ เหมือนบริษัทเป็นบ้านหลังหนึ่ง ห้องนี้ เป็นห้องเก็บทรัพย์สิน ห้องนั้นเป็นห้องเก็บหนี้สิน ถ้ามีทรัพย์สินแปลกใหม่เข้ามาชิ้นหนึ่ง จะต้องรู้ว่าต้องจัดเก็บไว้ที่ห้องไหนจึงจะปลอดภัย และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด CEO ที่ไม่รู้ว่าข้างของในบ้านตัวเองมีอะไรบ้าง จัดเก็บไว้ที่ไหน แม้จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แต่ก็ไม่สมกับเป็นเจ้าของบ้านตัวจริง

         
7. CEO ต้องเป็นครูให้กับคนในองค์กร CEO ที่ดีไม่ใช่สั่งอย่างเดียว แต่ควรจะสอนเป็นด้วย เพราะจะให้ทุกคนในองค์กรเก่งเหมือน CEO คงเป็นไปไม่ได้ มิฉะนั้นคงเป็น CEO หมดทั้งบริษัท CEO ไม่ควรโกรธเมื่อลูกน้องทำไม่ได้ดั่งใจ (เช่นเดียวกับไม่ควรโกรธคนขับรถว่าไม่ฉลาดพอ เพราะถ้าเขาฉลาดกว่านี้ก็คงไม่เป็นแค่คนขับรถอย่างที่เห็น) CEO ต้องสุขุมเยือกเย็นพอที่จะชี้แนะสั่งสอนให้ลูกน้องเกิดการพัฒนา ถ้าสอนแล้วเขาจดจำและทำได้ ถือว่าโชคดี หากบังเอิญมีลูกน้องที่เก่งเองโดยเราไม่ต้องเสียเวลาสอน CEO ก็เหมือนกับถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ แต่คงไม่มีใครดวงดีถึงขั้นถูกหวยตลอดทั้งปี CEO จึงต้องอดทนปากเปียกปากแฉะชี้แนะ สั่งสอนลูกน้องต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

          จากบทบาททั้ง 7 ประการนี้ CEO มืออาชีพต้องแสดงให้ชนะใจคนดู ซึ่งก็คือ ผู้ถือหุ้น พนักงานและสังคมโดยรวม
หน้าที่ความรับผิดชอบทั่วไปของ CEO
          โดยทั่ว ๆ ไป แบ่งได้ ดังนี้

1. ในฐานะผู้นำ
          - ให้คำปรึกษาแนะนำกรรมการของหน่วยงาน
          - เป็นตัวแทนขององค์กร ในการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรอื่น และเป็นผู้แนะนำองค์กรให้ผู้อื่นรู้จัก

2. ในฐานะผู้บริหาร ผู้มองการไกล
          - เป็นผู้รับรู้ข่าวสารใหม่ ๆ เกี่ยวกับองค์กรและบุคลากรเสมอ
          - มองไปยังอนาคตเพื่อสร้างโอกาส
          - มีการพบปะกันระหว่างผู้บริหารและบุคลากร
          - มีการติดต่อกันระหว่างองค์กรและสังคมภายนอก

3. ในฐานะผู้ตัดสินใจ
          - นำเสนอนโยบายและแผนงานแก่กรรมการบริหาร
          - ตัดสินใจหรือแนะนำการปฏิบัติงานให้กับบุคลากร

4. ในฐานะผู้จัดการ
          - บริหารจัดการองค์กร
          - ปรับปรุงแผนงาน
          - บริหารจัดการ ทรัพยากรบุคคลในองค์กร
          - บริหารจัดการ เงิน และทรัพยากรทางกายภาพ

5. ในฐานะนักพัฒนา
          - ช่วยในการคัดเลือกและประเมินสมาชิกของกรรมการบริหาร
          - ให้คำแนะนำ ปรึกษา สนับสนุนการทำงาน
          - สนับสนุนการประเมินกรรมการบริหารระดับสูง

หน้าที่หลักของ CEO
          1. เป็นกรรมการบริหาร และสนับสนุนการทำงานขององค์กร
          2. รับผิดชอบด้านการออกแบบ วางแผนการตลาด การประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ
          3. บริหารจัดการด้านการเงิน ภาษี การจัดการความเสี่ยง
          4. บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร
          5. การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์กรให้เป็นที่รู้จัก
          6. การจัดการด้านงบประมาณเพื่อการพัฒนาองค์กร

CEO กับ Knowledge Management
          CEO ต้องเป็นผู้ให้ความสำคัญกับความรู้ เป็นผู้ที่สนับสนุนให้เกิดความรู้ขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นตัวผลักดันให้องค์กรเกิดการพัฒนาโดยกระบวนการในการจัดการความรู้ที่ CEO ต้องดำเนินการ คือ (Dauphinais 2000, 311-322)
          1. การกำหนดว่าความรู้ใดเป็นความรู้ที่มีความสำคัญกับองค์กร และจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน
          2. การพิจารณาความรู้ที่จะจัดเก็บว่าจะนำไปใช้ในด้านใดบ้าง ซึ่งการจะทราบว่าความรู้ที่ได้จัดเก็บไว้นั้นจะนำไปใช้ในส่วนใด อาจพิจารณาได้จากหลายทาง เช่น จากลูกค้า จากบุคลากรในองค์กร เป็นต้น
          3. การกำหนดวิธีการในการเข้าถึงความรู้ที่ได้ทำการจัดเก็บไว้ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ
          4. การกำหนดภาษาที่ใช้ในการจัดการความรู้ ควรเป็นภาษาที่สามารถเข้าใจได้ง่าย
          5. การสร้างความรู้เสมือน คือ การสร้างแหล่งความรู้ให้สามารถเข้าใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา
          6. สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร
          7. วัดผลที่ได้รับจากการสร้าง ระบบการจัดการความรู้ ที่ใช้ในองค์กร ซึ่งอาจวัดได้จากกำไรที่ทางบริษัทได้รับ
          8. CEO ต้องสามารถคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่ลงทุนไปนั้นจะเป็นสิ่งที่มีความคุ้มค่ากับองค์กร
          9. CEO ต้องมีความกระตือรือล้นในการพัฒนาความรู้ขององค์กรอยู่เสมอ เพื่อให้องค์กรมีความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนางาน

ที่มา กรมบัญชีกลาง  รวบรวมโดย นายไพบูลย์ ปะวะเสนะ บรรณารักษ์ 3 ห้องสมุดกรมบัญชีกลาง (1 ธันวาคม 2547)